top of page

สรุปใจความสำคัญ กฏกระทรวง ฉบับที่ 374 ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้







เหตุผลที่มีการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้

  • การจำหน่ายหนี้สูญ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) มีการใช้มาเป็นเวลานาน และไม่สอดคล้องกับสภาพการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

  • เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS9) เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน ซึ่งมีผลต่อการจัดชั้น การกันเงินสำรอง และการตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชีของสถาบันการเงิน

ประเด็นที่ 1: เงื่อนไขการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ (Write-off)

* กรณีฟ้องร้อง: กรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทผู้เป็นเจ้าหนี้ ต้องมีคำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายหนี้นั้นเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

อนึ่ง สำหรับการดำเนินการในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในช่วง 1 มกราคม 2563 แต่ไม่เกิน 31 ธันวาคม 2563 ให้กรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทผู้เป็นเจ้าหนี้ มีคำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายหนี้นั้นเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ (Write off) กิจการจะต้องดำเนินการ อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

1. การติดตามทวงถามหนี้

1.1 ต้องมีหลักฐานการติดตามทวงถามอย่างชัดแจ้ง แต่ไม่ได้รับชำระหนี้

  • ลูกหนี้ตาย หรือ หายสาบสูญ และไม่มีสินทรัพย์ใดที่ชำระหนี้ได้

  • ลูกหนี้เลิกกิจการ และมีเจ้าหนี้คนอื่นรอรับชำระอยู่เหมือนกัน (จำนวนหนี้มากกว่าสินทรัพย์ของลูกหนี้)

1.2 กรณียอดหนี้ ไม่เกิน 2 แสนบาท สามารถพิจารณา Write off ได้โดยไม่ต้องมีหลักฐานว่าลูกหนี้ตาย หรือหายสาบสูญ

หรือเลิกกิจการ แต่ให้มีหลักฐานว่ามีการติดตามทวงถามตามสมควรแล้ว

1.3 หากดำเนินการติดตามทวงถามหนี้ ตามที่ระบุแล้ว จึงจะสามารถ Write off ออกจากบัญชีลูกหนี้ได้

2. การฟ้องร้องลูกหนี้ (คดีแพ่ง)

2.1 กรณียอดหนี้ เกิน 2 ล้านบาท: มีหมายบังคับคดีของศาลแล้ว หรือ มีการดำเนินการบังคับคดีแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มี

ทรัพย์สินใดจะชำระหนี้ได้

2.2 กรณียอดหนี้ เกิน 2 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท

  • ศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว หรือ รับคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่งแล้ว

2.3 หากดำเนินการฟ้องร้องลูกหนี้ในคดีแพ่ง ตามที่ระบุแล้ว จึงจะสามารถ Write off ออกจากบัญชีลูกหนี้ได้

3. การฟ้องร้องลูกหนี้ (คดีล้มละลาย)

3.1 กรณียอดหนี้ เกิน 2 ล้านบาท

  • มีการประนอมหนี้กับลูกหนี้ โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้น

  • ลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย และได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรก

  • ศาลได้มีคำสั่งปิดคดีแล้ว

3.2 กรณียอดหนี้ เกิน 2 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท

  • ศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว หรือ รับคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแล้ว

3.3 หากดำเนินการฟ้องร้องลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ตามที่ระบุแล้ว จึงจะสามารถ Write-off ออกจากบัญชีลูกหนี้ได้


ประเด็นที่ 2: การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ (Write-off) ของ สถาบันการเงิน ในส่วนของหนี้จากการให้สินเชื่อที่ได้กันเงินสำรองครบ 100% ไปแล้ว


สามารถพิจารณา Write-off ได้เลย โดยไม่ต้องทำตาม 3 ข้อ ด้านบน หากหนี้ดังกล่าวมีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • เป็นลูกหนี้ค้างชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ย เป็นระยะเวลารวมกันไม่น้อยกว่า 360 วัน หรือ 12 เดือน

  • เป็นลูกหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์ การตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชี ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

  • เป็นลูกหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์ การตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชี สำหรับสินทรัพย์ และภาระผูกพันธ์ทางการเงินที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด


ประเด็นที่ 3: รอบระยะเวลาบัญชี ที่รับรู้หนี้สูญเป็นรายจ่าย

หนี้ที่ได้ดำเนินการตามกฏกระทรวงนี้ครบถ้วนแล้ว ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้จำหน่ายเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น (Write-off ได้เลย และรับรู้ค่าใช้จ่ายในงวดนั้น ๆ) ยกเว้น

  • กรณีของการฟ้องร้อง (คดีแพ่ง) ให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ ศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้อง คำขอเฉลี่ยหนี้ หรือรับคำขอรับชำระหนี้ (รอให้ศาลรับเรื่องก่อน จึงจะ Write-off ได้ แล้วจึงค่อยรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในงวดนั้น)

  • กรณีของการฟ้องร้อง (คดีล้มละลาย) ให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ (รอให้ศาลเห็นชอบก่อน จึงจะ Write-off ได้ แล้วจึงค่อยรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในงวดนั้น)

  • กรณีเจ้าหนี้ ได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ (อ้างอิง 6 นว) สินค้าถูกเพลิงไหม้ แต่เจ้าหนี้รับรู้รายได้ในการคำนวณรายได้สุทธิเพื่อเสียภาษีนิติบุคคล (Corporate Tax) ไปแล้ว สามารถ Write-off และรับรู้ค่าใช้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชี ที่ปลดหนี้นั้นได้เลย (เจ้าหนี้ ยกหนี้ให้)

ประเด็นที่ 4: สำหรับการดำเนินการในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในช่วง 1 มกราคม 2563 แต่ไม่เกิน 31 ธันวาคม 2563 ให้กรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทผู้เป็นเจ้าหนี้ มีคำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายหนี้นั้นเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น


ประเด็นที่ 5: กฏกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการดำเนินการที่เริ่มในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มใน หรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป


สรุปก็คือ กฏกระทรวง ฉบับนี้ มีประเด็นสำคัญที่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับวิธีการ Write-off ลูกหนี้ออกจากบัญชี สามารถเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงจาก ฉบับเดิม (ฉบับที่ 186) และ ฉบับปัจจุบัน (ฉบับที่ 374) ได้ดังนี้

กฏกระทรวงฉบับนี้ มีการปรับช่วงเพดานของยอดหนี้ให้สูงขึ้น ส่งผลทำให้กิจการสามารถทำการ Write-off ลูกหนี้เป็นหนี้สูญได้ง่ายขึ้น และเร็วขึ้น โดยที่เป็นไปตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร (รับรู้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้) เช่น

  • บริษัท A เป็นเจ้าหนี้การค้า บริษัท B ด้วยจำนวนยอดหนี้ 1.5 ล้านบาท

  • หากเป็นกฏกระทรวงฉบับเก่า ก็จะต้องทำการฟ้องร้อง และมีการดำเนินการบังคับคดีเสียก่อน (ใช้เวลาไปนานมากแล้ว) จึงจะเข้าเกณฑ์การ Write-off ของกรมสรรพากร จากนั้นจึงจะรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้

  • แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง มาใช้กฏกระทรวงฉบับปัจจุบัน ยอดหนี้ 1.5 ล้านบาทนี้ กิจการสามารถ Write-off ได้ตั้งแต่ วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำฟ้อง และรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ภายใน 30 วัน (ไม่ต้องรอให้กระบวนการดำเนินไปจนถึงขั้นตอนบังคับคดี) เป็นต้น

  • จะสังเกตได้ว่า การ Write-off เกิดได้เร็วขึ้น เพื่อให้งบการเงินสะท้อนความเสี่ยงที่กิจการกำลังเผชิญได้อย่างเป็นปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้แนวปฏิบัติใหม่นั้นมีความสอดคล้องกลับมาตรฐาน TFRS9 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันด้วยนั่นเอง

 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)


ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น

 

สนใจประเมิน TFRS9 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ประสบการณ์ยาวนานและประเมินจริงกว่า 300 บริษัท ด้วยความคุ้มค่าเกินราคา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณศุภิชา (087-100-7199) หรือ อาจารย์ทอมมี่ (082-899-7979)

ตัวอย่างรายชื่อลูกค้า (Our Clients) สามารถดูตัวอย่างเสียงตอบรับจากผู้ใช้บริการการประเมินของเราได้ที่ www.TFRS9consulting.com/clients

Comments

Couldn’t Load Comments
It looks like there was a technical problem. Try reconnecting or refreshing the page.
bottom of page